Monday, June 2, 2014

เจริญสติด้วยคำนินทา

หลายคนคงจะเคยเจอปัญหาที่แก้เท่าไรก็แก้ไม่ตก นั่นก็คือ คำนินทา ซึ่งถ้าเป็นเรื่องดีก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นเรื่องไม่จริงก็อาจทำให้หลายคนเกิดอาการเครียดไปตามๆ กัน ทางที่ดีที่สุด แม้เราจะห้ามคนนินทาไม่ได้ แต่เราก็สามารถห้ามใจไม่ให้คิดตามจน “จิตตก” ได้ และหนึ่งในวิธีได้ผลชะงัดคือ การมองโลกในแง่ดี คิดเสียว่าที่เขานินทา คือการเตือนทางอ้อมให้เราได้แก้ไขปรับปรุงในเรื่องที่เรายังบกพร่อง เวลาที่ได้ยินเสียงนินทาให้ถือเสียว่าเป็นระฆังแห่งสติที่จะเตือนให้เราหัน กลับมามองตัวเอง สิ่งไหนจริง ก็ปรับปรุงแก้ไข สิ่งไหนไม่จริงก็ปล่อยให้ผ่านไปที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องคิด พูด และทำแต่สิ่งดีๆ เพื่อจะได้ไม่หวั่นไหวไปกับคำนินทาที่ไม่เป็นความจริง

เจริญสติด้วยคำวิจารณ์

การทำงานกับการวิพากษ์วิจารย์เป็นสิ่งคู่กัน แต่หลายคนมักสติหลุดเพียงเพราะถูกวิพากวิจารณ์คือ ดังนั้นสิ่งที่ต้องท่องให้ขึ้นใจเมื่อได้ยินคำวิพากษ์วิจารณ์คือ เราเอาปัญญาออกหน้า หรือเอาอัตตาออกหน้า หากเอาปัญญาออกหน้า จะเกิดคำถามในใจว่า “ฉันผิดพลาดตรงไหน” แต่หากเลือกอัตตาก็จะมีประโยคหนึ่งตามมาคือ “แกทำให้ฉันเสียหน้า” สุดท้ายถ้าเราพยายามเตือนตัวเองให้ใคร่ครวญแต่ข้อผิดพลาด ความทุกข์ ความรู้สึกเสียหน้าก็จะมาไม่ถึงเหมือนอย่างที่คุณเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งเมืองโบราณมักเตือนตัวเองเสมอว่า “วันไหนไม่ถูกตำหนิวันนั้นเป็นวันอัปมงคล” เพราะนั่นหมายถึงมีแต่คนสรรเสริญเยินยอจนหลงลืมตัวซึ่งอาจนำไปสู่ความเสื่อม ในที่สุด

Wednesday, May 21, 2014

เคล็ดลับจาก เอคฮาร์ท โทลเลอ

  • สิ่งสำคัญที่เราควรใช้ในการดำเนินชีวิตไม่ใช่ "ความคิด" แต่เป็น "สติ" เพราะความคิดจะหล่อเลี้ยงให้อัตตาเติบโตขึ้น
  • เวลา เดียวที่มนุษย์ทุกคนมีคือ "ปัจจุบัน" เท่านั้น ถ้าเราอยู่กับปัจจุบันขณะได้อย่างแท้จริง เราจะรู้สึกสงบสุข ตรงกันข้าม อารมณ์ด้านลบหรือความทุกข์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคิดถึงอดีตหรืออนาคต
  • เรา สามารถฝึกให้ตัวเองอยู่กับปัจจุบันได้ง่ายๆ ด้วยการสังเกตุการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยไม่คิด ไม่ตัดสิน แต่วางตนเป็นเพียง "ผู้ดู" อยู่ห่างๆ แล้วจะพบว่า แท้จริงแล้วปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเรานั้นล้วนเกิดขึ้นเพราะอัตตาทั้งสิ้น
  • ความลับของชีวิตคือ "การตายก่อนที่จะตายจริงๆ" ด้วยการฆ่าอัตตาให้ตาย แล้วชีวิตจะปราศจากความเจ็บปวด

จิตเป็นอิสระ เพราะปล่อยวางได้

ความรู้หรือสติปัญญาที่ควบคุมจิตอยู่เป็นประจำ จะเป็นเครื่องอ่านออกทั้งภายนอกภายใน ที่จะมีอะไรเกิดขึ้นมาอย่างไร ไม่ว่าเรื่องจำเรื่องคิด ที่ประกอบไปด้วยทุกข์โทษก็จะต้องรู้สึกได้ และพินิจพิจารณาปล่อยวางออกไป แล้วจิตจะได้ไม่วุ่นวาย หรือเป็นกลาง วางเฉยอยู่ได้ตามปกติ เมื่อเกิดยึดถืออะไรขึ้นมา จะได้เป็นการอ่านออกว่า มันวุ่นวายเดือดร้อนเท่าไร
    
       ฉะนั้น เรื่องการควบคุมจิตใจด้วยสติปัญญา จึงมีคุณมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง แม้จะเผลอไปเล็กๆน้อยๆ ก็เห็นทุกข์เห็นโทษ แล้วที่เผลอไผลไปยึดมั่นถือมั่นมากมายก็ยิ่งเป็นทุกข์เป็นโทษใหญ่ การมีสติควบคุมเอาไว้ได้เป็นปกตินี้ ทำให้ดับทุกข์ ดับกิเลสได้ในชีวิตประจำวัน ไม่มีเรื่องปรุงแต่งทำให้เดือดเนื้อร้อนใจ เป็นการอยู่อย่างสงบ แม้จะกระทำกิจการอะไร ก็ทำด้วยความสงบของจิตที่ไม่แส่ส่าย
    
       การประพฤติปฏิบัติประจำวันเช่นนี้ จึงเป็นการดับทุกข์ดับโทษภายในตัวเองได้ แต่ก็ต้องพินิจพิจารณาสอบเข้าข้างในอีก เพราะการเป็นปกติภายนอกนี่มันขั้นหนึ่ง แล้วก็ต้องมองเข้าไปข้างในให้รู้ว่า จิตใจยังมืดมิดอยู่กับอะไร จึงยังไม่รู้แจ้งชัดเจนภายใน
    
       นี่ก็ต้องรู้สึกได้ว่า ลักษณะของโมหะที่ห่อหุ้มอยู่อย่างไร แล้วเราจะพินิจพิจารณาเข้าไปได้อย่างไร ล้วนแต่เป็นข้อคิดของตัวเองที่จะต้องมองดูให้ทั่วถึง และรู้จักลักษณะของอารมณ์ที่ปรุงแต่งดีชั่วเหล่านี้ แม้ว่าส่วนหยาบๆ มันไม่ปรุง แต่ก็เป็นการจำการคิดขึ้นมาเป็นบางครั้งบางคราว ถ้าเราไม่รู้เท่า มันก็ขยายตัวหยาบ
    
       ฉะนั้น เรื่องการควบคุมจิตด้วยการมีสติ จะต้องพินิจพิจารณาประกอบให้แยบคายอยู่เสมอ ไม่ให้ไปหยิบฉวยอะไรขึ้นมา รู้แล้วก็ปล่อยวางไป จิตจะได้อยู่ในลักษณะเป็นกลางวางเฉยได้ แล้วก็พิจารณาควบคุมเอาไว้ประกอบกับการเพ่งดู เพราะการเพ่งดูเข้าข้างในเป็นของสำคัญ
    
       ที่เพ่งเข้าไปแล้วมักจะไม่ได้เรื่อง เพราะมันมองเข้าไปไม่ได้ ความวางเฉยมีมากเกินไป คือไปเฉยๆเมยๆ เป็นการไม่รู้อะไรเป็นอะไร จึงต้องพินิจพิจารณาประกอบให้รู้แยบคายให้ได้ ทั้งปรากฏการณ์ของความรู้สึกนึกคิดที่มันเกิดๆดับๆ หรือความรู้สึกที่เป็นความสุขทุกข์ก็ดี ถ้าเราไม่ไปสนใจกับมัน มันก็ดับไปตามธรรมชาติ
    
       ทีนี้การที่จะควบคุมสติให้ติดต่อทุกอิริยาบถจำเป็นจะต้องฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้วมันไม่รู้ การฝึกสติสัมปชัญญะให้มีการทรงตัวของจิต ที่มีความปกติเป็นพื้นอยู่แล้ว ก็จะพิจารณาได้ในการเคลื่อนไหวของความรู้สึก หรือเพ่งพินิจพิจารณา มิฉะนั้นแล้วไม่รู้
    
       ถ้าไม่รู้เรื่องของกาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่รู้สึกเกิดดับอยู่นี่ มันเป็นของดูไม่ง่ายนัก แต่ก็ต้องพิจารณาดูให้เห็นว่า กายที่เป็นเครื่องอาศัยของเรือนร่าง ที่มันเสื่อมและชำรุดทรุดโทรมอยู่อย่างไร ต้องกินต้องถ่ายอยู่อย่างไร นี่ต้องพิจารณาอยู่เสมอ
    
       การพิจารณาให้เห็นความเป็นธาตุของร่างกายทั้งหมด จึงต้องทำในใจให้มาก แม้ขณะที่ร่างกายเป็นปกติ คือยังไม่เจ็บไข้ได้ป่วย แต่มันก็ยังเพลินๆอยู่ ทีนี้เมื่อเจ็บป่วยขึ้นมาก็มีความทุกข์เกิดขึ้น แล้วมันจะมีการดิ้นรนกระวนกระวาย และคิดแก้ไขไปตามอาการของโรคที่เกิดขึ้น
    
       ข้อนี้ต้องพินิจพิจารณาประกอบเอาไว้ด้วย ทั้งๆที่จะต้องแก้ไขเยียวยามันไปตามหน้าที่ แต่ให้เห็นความเป็นธรรมชาติของมันว่า รูปนามหรือร่างกายทั้งหมด มีความเปลี่ยนแปลงเป็นทุกข์ไปตามเรื่องของมัน ฉะนั้น จึงต้องพิจารณาให้รู้จริง จะได้คลายจากความกอดรัดยึดถือว่า เป็นตัวเราเป็นของของเรา ที่ยังมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่นักหนา
    
       ถ้าเราไม่หมั่นพิจารณาให้รู้แล้ว มันยากเหมือนกัน เพราะมันยังยึดมั่นถือมั่นอยู่เรื่อย ถ้า เราหมั่นพิจารณาและปล่อยวางออกไปได้ จะมีความรู้สึกว่า ภายในจิตมีความว่างความสงบได้ตามสมควร แม้จะมีทุกข์กายทุกข์ใจจนน้ำตานองหน้าก็ตาม
    
       แต่ความรู้สึกของจิตที่มองเห็นชัดลงไปว่า นี่มันเป็นการแสดงออกของธรรมชาติ ที่เปลี่ยนแปลงและเป็นทุกข์อยู่ในตัวของมันเอง มิวันหนึ่งวันใดก็แตกแยกทำลายกลายเป็นธาตุไปทั้งหมด ก่อนที่มันจะแตกแยกต้องพิจารณาให้รู้เรื่องว่า ร่างกายทั้งหมดนี้มันไม่คงทนถาวร แล้วก็ไม่ใช่ตัวเราจริงจัง เป็นแต่เรือนร่างที่อาศัยชั่วคราวเท่านั้น
    
       แล้วพิจารณาให้เห็นทุกข์โทษที่เกิดขึ้นภายในร่างกายนี้มันมากมายนัก ทั้งๆที่อยู่ดีกินดี แต่มันก็ยังมีทุกข์ที่เนื่องกับกายหรือเนื่องกับจิต เพราะความยึดมั่นถือมั่น
    
       แล้วร่างกายที่มันเปลี่ยนแปลงอยู่นี้ ก็ต้องกินต้องถ่าย ยืน เดิน นั่ง นอน เปลี่ยนอิริยาบถอยู่เป็นประจำทุกวันทุกเวลา จะต้องพิจารณาดูให้ดีว่า นี่มันเรื่องอะไรกันแน่ มันเรื่องของทุกข์ทั้งนั้นใช่หรือเปล่า แต่นี่เพราะมีความประมาทเพลิดเพลินไป จนกระทั่งไม่รู้สึกว่า เรือนไฟมันไหม้ลุกโพลงๆ ด้วยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
    
       เพราะฉะนั้น การอยู่ชนิดที่งมงาย หรือยึดมั่นถือมั่น จึงเป็นการอยู่ของคนโง่ ต้องพิจารณาให้รู้ขึ้นมาให้ได้ แล้วจะได้มองเห็นความเป็นธรรมชาติ คือรูปก็เป็นสักแต่ว่าธาตุ จะได้ไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวเราของเราเหนียวแน่นเกินไป มันจะไม่เกิดทุกข์ซ้อนทุกข์ขึ้นมาอีก
    
       เมื่อพิจารณาอยู่เป็นประจำแล้ว จิตก็จะเป็นอิสระขึ้นมาได้ เหมือนกับอาศัยอยู่ในเรือนร่างที่จะต้องอาศัยไปตามหน้าที่ แต่จิตนี่มันไม่หลงยึดมั่นถือมั่นเป็นจริงเป็นจัง มันคลายออกไปแล้ว เพราะได้พิจารณาเห็นความจริงอยู่ทุกขณะ แล้วความเป็นอิสระของจิตก็เรียกว่ามันไม่มีทุกข์ แต่ขณะไหนที่มันไปยึดถืออะไรขึ้นมา ก็เป็นทุกข์ขึ้นในขณะนั้น
    
       ขอให้สังเกตดูว่า ขณะที่จิตเป็นปกติว่าง วางเฉยอยู่นี่ ยังไม่มีทุกข์มีโทษอะไร แต่ถ้าเผลอสติไปยึดมั่นถือมั่นเข้าเมื่อไร มันก็มีทุกข์มีโทษขึ้นมาทันที
    
       จึงต้องมีการสังเกตและพิจารณาว่า ชีวิตที่มีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ต้องมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมที่มองเห็นธรรมชาติ เป็นการอ่านตัวเองว่า ลักษณะความทุกข์ของรูปนาม มันก็อยู่ตามเรื่องตามราวของมัน แต่จิตที่เป็นอิสระได้ ว่างได้ สงบได้ ต้องสนใจกันที่นี่
    
       ถ้าไม่มองให้เห็นความจริงอย่างนี้แล้ว จะต้องทุกข์แล้วทุกข์อีกมากมาย แล้วมันจะออกไปยึดถือข้างนอกแผ่กว้างออกไปทุกที ที นี้ให้มันหยุดมารู้ตัวเอง ดับความปรุงแต่งที่เคยปรุงมาสลับซับซ้อนเดี๋ยวนี้ ให้มันเลิก มันหยุด แล้วก็ไม่เอาอะไร เรียกว่าเป็นการอยู่นิ่งๆ คือว่าไม่ต้องทำอะไรมาก ไม่ต้องคิดอะไรมาก แม้จะต้องใช้ความคิดในการทำประโยชน์อะไรบ้าง ก็ใช้มันไปตามหน้าที่ แต่ความยึดมั่นภายในมันคลายออกไปมากทีเดียว
    
       ถ้ามีการพิจารณาประกอบอยู่แล้ว ล้วนแต่จะคืนคายถ่ายถอนออกไปทุกที เหมือนกับเรามีโรค เมื่อเรากินยาเข้าไป ก็ไปดับไปทำลายโรคให้เบาบางได้ แต่โรคกิเลสตัณหาภายในจิตใจมันเป็นของลึกของละเอียด จะต้องพินิจพิจารณาให้รู้แยบคาย และปล่อยวางออกไป จิตนี้จะเป็นอิสระได้ ไม่ต้องไปเกี่ยวข้องยึดถืออะไร
    
       (จากส่วนหนึ่งของการสอนปฏิบัติธรรมวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2515)
    
       (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 161 พฤษภาคม 2557 โดย ก.เขาสวนหลวง สำนักปฏิบัติธรรม เขาสวนหลวง จ.ราชบุรี)

Tuesday, May 20, 2014

ความรู้สึกตัว ๑ ตอนที่ ๑

แนวทางการฝึกสมาธิและการเจริญสติ


มีแนวทางการปฏิบัติสำหรับผู้ที่จะ เริ่มต้นฝึกปฏิบัติใหม่ เพื่อทดลองฝึกปฏิบัติ (หลังจากที่ได้อ่านแนวทางปฏิบัติทุกแนวแล้วยังงงๆ อยู่ ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นที่ตรงไหน อย่างไรดี) พอจะรวบรวมได้ ๑๖ ข้อ ดังนี้ คือ


๑. เริ่มจากตื่นนอนในแต่ละวัน ให้ฝึกทำสมาธิอย่างน้อยประมาณ๑๕-๓๐ นาที แล้วจึงค่อยเพิ่มจนถึง ๑ ชั่วโมงเป็นประจำ (อาจมีการสวดมนต์ไหว้พระด้วยหรือไม่ก็ได้) การทำสมาธิจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ได้ และคำบริกรรมที่ใช้แล้วแต่ถนัด เพื่อเริ่มฝึกจิตให้มีคุณภาพ

๒. ต่อด้วยการเจริญสติ คือระลึกรู้ในการทำกิจส่วนตัว เช่น อาบน้ำแปรงฟัน รับประทานอาหาร หรือพบปะพูดจา ฯลฯ ทำกิจได้ก็ให้มีสติระลึกรู้และตื่นตัวอยู่เสมอทุกๆ อิริยาบถ “เดินนับเท้า นอนนับท้อง จับจ้องลมหายใจ เคลื่อนไหวด้วยสติ” หัดรู้สึกตัวบ่อยๆ

๓. ให้ฝึกทำสมาธิ สลับกับการเจริญสติเช่นนี้ ทุกๆ ๑-๓ ชั่วโมง(ระยะเวลาอาจปรับสั้นยาวได้ตามความเหมาะสม) ทั้งนี้ต้องแน่ใจว่า เป็นการปฏิบัติในแนวทางที่ถูก เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อเจริญสติได้คล่องขึ้น ให้เพิ่มการเจริญสติให้มากกว่าการทำสมาธิ

๔. ศีลห้าและกุศลกรรมบถสิบอย่าให้ขาด และให้งดเว้นอบายมุขทุกชนิดตลอดชีวิต หากศีลข้อใดขาดให้สมาทานศีลห้าใหม่ทันทีโดยวิธีสมาทานวิรัติด้วยตนเอง เอาเจตนางดเว้นเป็นที่ตั้ง เพราะศีลเป็นบาทฐานของการปฏิบัติ

๕. ท่านที่มีภารกิจมากและต้องทำกิจการงานต่างๆ ที่จะต้องพบปะติดต่อกับบุคคลอื่นๆ ให้หมั่นสำรวม กาย วาจา ใจ อยู่เป็นนิจ ให้มีสติระลึกรู้ อยู่กับงานนั้นๆ ขณะพูดเจรจาก็ให้มีสติระลึกรู้อยู่กับการพูดเจรจานั้นๆ ตลอดเวลา เมื่ออยู่ตามลำพังก็ให้เริ่มสมาธิหรือเจริญสติต่อไป

๖. เมื่อเริ่มฝึกใหม่ๆ  จะมีอาการเผลอสติบ่อยมาก และบางทีเจริญสติไม่ถูก หลงไปทำสมถะเข้า เรื่องนี้ในหนังสือวิมุตติปฏิปทาของท่านปราโมทย์ สันตยากร ท่านกล่าวว่า “ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานได้ จะต้องเตรียมจิตให้มีคุณภาพเสียก่อน ถ้าจิตไม่มีคุณภาพ คือรู้ตัวไม่เป็น จะรู้ปรมัตถธรรมไม่ได้ เมื่อไปเจริญสติเข้าก็จะกลายเป็นสมถะทุกคราวไป ฯลฯ” ดังนั้น จึงต้องฝึกรู้ตัวให้เป็น และเมื่อใดที่เผลอหรือคิด ใจลอยฟุ้งซ่านไป ก็ให้กลับมามีสติระลึกรู้อยู่กับสภาวะปัจจุบัน ขณะที่รู้ว่าเผลอหรือรู้ว่าคิดฟุ้งซ่าน ขณะนั้นก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว แต่ต้องไม่ใช่การกำหนดหรือน้อมและไม่ใช่ตั้งท่าหรือจ้องหรือเพ่ง

หาก จิตมีอาการเกิดกามราคะ หรือโทสะที่รุนแรง ให้หันกลับมาอยู่กับการทำสมาธิแทนจนกว่าอาการจะหายไป แล้วเริ่มเจริญสติต่อไปใหม่ถ้าอาการยังไม่หายแสดงว่า ท่านไม่ได้อยู่กับสมาธิ ให้ตั้งใจปฏิบัติสมาธิให้มั่นใหม่อีกครั้ง จนกว่าจะสงบ ความสงบอยู่ที่การปล่อยวางจิตให้พอดี ตึงไปก็เลย หย่อนไปก็ไม่ถึง ต้องวางจิตให้พอดีๆ

๗. ขณะที่เข้าห้องน้ำถ่ายทุกข์หนัก-เบา หนาว-ร้อน หิว-กระหาย ก็ให้เจริญสติระลึกรู้ทุกครั้งไป

๘. ตอนกลางวัน  ควรหาหนังสือธรรมะมาอ่าน หรือฟังเทปธรรมะสลับการปฏิบัติ ถ้าเห็นว่ามีอาการเบื่อหรืออ่อนล้า อาการดังกล่าวอาจเกิดจากการตั้งใจเกินไป หรืออาจปฏิบัติไม่ถูกทางก็เป็นได้ ให้เฝ้าสังเกตและพิจารณาด้วย

๙. ให้มองโลกแง่ดีเสมอๆ ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสตลอดทั้งวันไม่คิด พูด หรือทำในสิ่งอกุศล ไม่กล่าวร้ายผู้อื่น ให้พูด คิด แต่ส่วนที่ดีของเขา การพูด การคิดและทำ ก็ให้เป็นไปในกุศล คือ ทาน ศีล สมาธิ และภาวนาเท่านั้น (ไม่พูดดิรัจฉานกถา) พยายามประคับประคองรักษากุศลธรรมให้เกิดและให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นเรื่อยๆ บางทีบางโอกาสอาจเห็นความโกรธโดยไม่ตั้งใจ และเห็นการดับไปของความโกรธ ซึ่งความโกรธจะเกิดขึ้นเร็วมากแต่ตอนจะหายโกรธ กลับค่อยๆ เบาลงๆ แล้วหายไปอย่างช้าๆ เปรียบได้เหมือนกับการจุดไม้ขีดที่เริ่มจุดเปลวไฟจะลุกสว่างเร็วมาก แล้วจึงค่อยๆมอดดับลงไป นั่นแหละคือการเจริญวิปัสสนา และต่อไปจะทำให้กลายเป็นคนที่มีความโกรธน้อยลง จนการแสดงออกทางกายน้อยลงๆ จะเห็นแต่ความโกรธที่เกิดอยู่แต่ในจิตเท่านั้น

๑๐. ให้ประเมินผลทุกๆ ๑-๓ ชั่วโมง หรือวันละ ๓-๔ ครั้งและให้ทำทุกวัน ให้สังเกตดูตัวเองว่า เบากายเบาใจกว่าแต่ก่อนหรือไม่เพราะเหตุใด

๑๑. ก่อนนอนทุกคืน ให้อยู่กับสมาธิในอิริยาบถนอนตะแคงขวา(สีหไสยาสน์) หรือเจริญสติจนกว่าจะหลับทุกครั้งไป ถ้าไม่หลับให้นอนดู “รูปนอน” จนกว่าจะหลับ

๑๒. เมื่อประเมินผลแล้วให้สำรวจตรวจสอบ เป้าหมาย คือ การเพียรให้มีสติระลึกรู้อยู่อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ให้สังเกตดูว่ามีความก้าวหน้าอย่างไรบ้างหรือไม่ หากยังไม่ก้าวหน้า ต้องค้นหาสาเหตุแท้จริงแล้วรีบแก้ไขให้ตรวจสอบดูว่าท่านได้ปฏิบัติถูกทาง หรือไม่ หาสัตบุรุษผู้รู้หรือกัลยาณมิตรเพื่อขอคำแนะนำ ไม่ควรขอคำแนะนำจากเพื่อนนักปฏิบัติด้วยกัน เพราะอาจหลงทางได้

๑๓. ให้พยายามฝึกทำความเพียร เฝ้าใส่ใจในความรู้สึกให้แยบคาย(โยนิโสมนสิการ) พยายามแล้วพยายามอีก ให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่คิดว่ายากมากๆ จนกลายเป็นง่าย และเกิดเป็นนิสัยประจำตัว

๑๔. จงอย่าพยายามสงสัย ให้เพียงแต่ พยายามเฝ้าระลึกรู้ในปัจจุบันธรรมอยู่ในกายในจิต (รูป-นาม) กลุ่มปัญหาข้อสงสัยก็จะหมดความหมายไปเอง (หลวงปู่เทียน จิตฺตสุโภ ท่านว่า “คิดเป็นหนู รู้เป็นแมว”)  อย่าพยายามอยากได้ญาณ หรือมรรคผลนิพพานใดๆ ทั้งสิ้น ตัวของเราเองมีหน้าที่เพียงแต่ สร้างเหตุที่ดีเท่านั้น

นัก ปฏิบัติที่คิดมาก มีปัญหามาก เพราะไม่พยายามรู้ตัว และยังรู้ตัวไม่เป็น ไม่มีสติพิจารณาอยู่ในกายในจิตของตนเอง เอาแต่หลงไปกับสิ่งที่ถูกรู้ หรือไม่ก็ไปพยายามแก้อาการของจิต

ดังนั้นจึงให้พยายามรู้ตัวให้เป็น ถ้ารู้เป็นจะต้องเห็นว่ามีสิ่งที่ถูกรู้กับมีผู้รู้ และให้พยายามมีสติพิจารณาอยู่แต่ภายในจิตของตนก็พอ ประการที่สำคัญอีกประการหนึ่งโปรดจำไว้ว่าให้รู้อารมณ์เท่านั้น อย่าพยายามไปแก้อารมณ์ที่เกิดขึ้น (วิมุตติปฏิปทา)

๑๕. จงอย่าคิดเอาเองว่า ตนเองยังมีบุญวาสนาน้อย ขอทำบุญทำทานไปก่อน หรืออินทรีย์ของตัวยังอ่อนเกินไป คิดเช่นนี้ไม่ถูกต้อง จงอย่าดูหมิ่นตัวเอง เมื่อเริ่มฝึกปฏิบัติหรือเจริญสติใหม่ๆ จะเกิดการเผลอสติบ่อยๆจะเป็นอยู่หลายเดือน หรือบางทีอาจหลายปี แต่ฝึกบ่อยๆ เข้าก็จะค่อยๆระลึกรู้ถี่ขึ้นเรื่อยๆ ขอให้พยายามทำความเพียรต่อไป ถ้าผิดก็เริ่มใหม่เพราะขณะใดที่รู้ว่าผิด ขณะนั้นจะเกิดการรู้ที่ถูกต้องโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว

ประการที่สำคัญ คือ ต้องเลิกเชื่อมงคลตื่นข่าว และต้องไม่แสวงบุญนอกศาสนา จงอยู่แต่ใน ทาน ศีล สมาธิและภาวนา (บุญกิริยาวัตถุสิบ) ก็พอ

๑๖. จงพยายามทำตนให้หนักแน่นและกว้างใหญ่ดุจแผ่นดินและผืนน้ำที่สามารถรองรับได้ทั้งสิ่งของที่สะอาดและโสโครก ซึ่งแผ่นดินและผืนน้ำรักชังใครไม่เป็น คือทั้งไม่ยินดี (สิ่งของที่สะอาด) และไม่ยินร้าย (ของโสโครก) ใดๆ วางใจให้เป็นกลางๆ ให้ได้ ความสำเร็จก็อยู่ที่ตรงนี้
ท่านที่รู้ตัวได้ชำนิชำนาญขึ้นแล้ว
การ เจริญสตินั่นแหละจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะหาอารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์มา เป็นเครื่องมืออยู่ที่ถนัด (วิหารธรรม) ให้จิตมีสติเฝ้ารู้อย่างต่อเนื่อง


หลวง พ่อชา สุภัทโท    ท่านเคยกล่าวไว้ว่า “ท่อนซุงที่ลอยล่องไประหว่างสองฝั่ง ถ้าไม่ติดอยู่ข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ไม่ช้าก็จะไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างแน่นอน”
แต่ถ้าลอยไปติดอยู่กับฝั่งใด (กามสุขัลลิกานุโยค หรือความยินดี)ฝั่งหนึ่ง (อัตตกิลมถานุโยค หรือความยินร้าย) ไม่ช้าก็คงกลายเป็นซุงผุใช้การไม่ได้เป็นแน่

การเจริญสติ-สมาธิ ช่วยรักษาโรคมะเร็ง

โรคมะเร็งเป็นสาเหตุของการตายอันดับหนึ่งหรือสองของคนในโลกปัจจุบัน มะเร็งยอดฮิตที่พบบ่อยๆ คือ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ ในสุภาพสตรีก็มีมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
      
       มะเร็งเกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆหลายอย่าง เช่น พันธุกรรม การรับประทานอาหารที่มีสารก่อมะเร็งเจือปน สารพิษในสิ่งแวดล้อมหรือในอาชีพการทำงาน การขาดการออกกำลังกาย การดื่มเหล้าและสูบบุหรี่เป็นประจำ ความเครียดในชีวิตประจำวัน การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เป็นต้น
      
       อาการที่ทำให้สงสัย และนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ เช่น คลำได้ก้อนผิดปกติตามที่ต่างๆ เช่น เต้านม ข้างลำคอ ขาหนีบ ในท้อง มีอาการเป็นแผลเรื้อรังในปากหรือตามผิวหนัง รักษาแล้วมากกว่า 2-4 อาทิตย์ก็ยังไม่หาย มีน้ำนมหรือเลือดออกมาจากหัวนม มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ท้องอืด ท้องแน่น ถ่ายเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด ไอเป็นเลือด โดยไม่มีอาการเจ็บปวดอะไร
      
       โดยเฉพาะผู้สูงอายุเมื่อมีอาการเหล่านี้ ก็ต้องตรวจว่าสาเหตุมาจากอะไร เมื่อพบว่าเป็นมะเร็ง แพทย์ก็จะต้องแจ้งให้ทราบ ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหามาก เพราะผู้ป่วยจะใจเสีย หวาดกลัว ท้อแท้สิ้นหวัง เครียด ซึมเศร้า และต้องใช้เวลาปรับตัวอยู่นาน กว่าจะยอมรับและเข้ารับการรักษา
      
       การรักษาในปัจจุบันก็ใช้วิธีผ่าตัด ให้เคมีบำบัด ฉายรังสี ซึ่งจะได้ผลดีในระยะแรกเมื่อมะเร็งยังไม่กระจาย แต่การรักษาก็มีผลข้างเคียงมากตั้งแต่เจ็บปวด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผมร่วง วิตกกังวล นอนไม่หลับ เป็นต้น
      
       ปัจจุบันมีนักธรรมชาติบำบัดทั้งหลาย ใช้วิธีการหลายอย่างร่วมกับการรักษาของแพทย์ เช่น อาหารต้านมะเร็งชนิดต่างๆ การออกกำลังกาย น้ำข้าว น้ำผักผลไม้ สมุนไพร ฯลฯ
      
       นอกจากเรื่องอาหารและการออกกำลังกายแล้ว ในเรื่องจิตใจ การฝึกสมาธิและการเจริญสติก็ได้รับความนิยมมาก ผู้เขียนขอกล่าวถึงงานของ ดร.ซูวาน บาวเออร์ วู (Susan Bauer Wu) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพยาบาล แห่งมหาวิทยาลัยอีโมรี เมืองแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา เธอได้ศึกษาวิธีการเจริญสติเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยโรค มะเร็ง และพบว่าวิธีการเจริญสติช่วยให้ผู้ป่วยมีสภาพจิตใจดีขึ้น อาการวิตกกังวลต่างๆลดลง อาการปวดลดลง การนอนหลับดีขึ้น คุณภาพชีวิตทั่วไปก็ดีขึ้นด้วย
      
       ดร.ซูซาน มีโอกาสเข้าฝึกอบรมการเจริญสติ โปรแกรม Mindfulness-based stress reduction ของ ศ.จอน คาแบค ซิน และหลักสูตรครูผู้สอนการเจริญสติแบบเข้มข้น เธอผ่านการฝึกการเจริญสติมานาน มีความชำนาญในการนำการเจริญสติมาใช้ในผู้ป่วยมะเร็ง
      
       เธอเล่าหลักการและวิธีการที่นำมาใช้ในผู้ป่วยไว้ในหนังสือชื่อ Leaves falling gently ซึ่งนอกจากเธอจะสอนนักศึกษาพยาบาลในมหาวิทยาลัยแล้ว ยังได้รับเชิญไปสอนในสถานปฏิบัติธรรมด้วย เช่น สถาบันอุปายา ในหลักสูตรการเตรียมตัวตายแบบพุทธ ชื่อว่า Being with dying Program สถาบันแห่งนี้เป็นสำนักปฏิบัติธรรมแบบพุทธนิกายเซน ซึ่งรวมเอานักวิชาการชั้นนำ แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยา นักการศึกษา ที่สนใจในเรื่องการเจริญสติมาสอนในหลักสูตรต่างๆของสถาบัน
      
       ท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปฟังคำบรรยายของเธอใน youtube จะมีให้ฟังหลายตอนที่น่าสนใจ เช่น 2011 Scientific conference – Susan Bauer-wu Ph D., Mindfulness for cancer patient, Leaves Falling Gently : Mindfulness book.
      
       อีกท่านหนึ่งที่นำการใช้สมาธิมาบำบัดโรคมะเร็งก็คือ ดร.เอียน กอว์เลอร์ (Ian Gawler) สัตวแพทย์ชาวออสเตรเลีย ซึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็งที่กระดูกชนิดร้ายแรงเมื่ออายุ 24 ปี โดนตัดขาไปข้างหนึ่ง ตอนนั้นมะเร็งยังไม่ลุกลามมาก หมอบอกว่า โรคนี้มีคนไข้ร้อยละ 5 เท่านั้นที่อยู่ได้ถึง 5 ปี
      
       ต่อมาอีกราวปีเศษๆ เขาไอเป็นเลือด หมอบอกว่ามะเร็งได้ลามไปที่ปอดแล้ว และจะอยู่ได้อีกไม่เกิน 6 เดือนเท่านั้น!!
      
       เขาและเกล ผู้เป็นภรรยา ได้พยายามหาวิธีที่จะเอาชีวิตรอดจากมะเร็ง โดยการหาความรู้จากที่ต่างๆ รวมทั้งอ่านหนังสือแนวธรรมชาติบำบัดอย่างมากมาย แล้วนำมาทดลองปฏิบัติอย่างจริงจัง จนกระทั่งก็ประสบความสำเร็จ หายขาดจากมะร็ง เมื่ออายุ 38 ปี
      
       เขาจึงได้ตั้งมูลนิธิกอว์เลอร์ เพื่อคนไข้โรคมะเร็ง แห่งออสเตรเลีย ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร มีการจัดโปรแกรมสุขภาพเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง และโรคอื่นๆ รวมทั้งโปรแกรมอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเอง
      
       นอกจากนั้น ยังมีโปรแกรมอบรมสำหรับแพทย์และเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ ในการดูแลผู้ป่วย (ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน www.gawler.org)
      
       สำหรับวิธีการของกอว์เลอร์นั้น เขาใช้อาหารที่อุดมไปด้วยผัก ผลไม้สด น้ำผักและผลไม้ การสวนล้างพิษทางทวารหนัก การให้วิตามินและเกลือแร่ทดแทน ส่งเสริมระบบการย่อย โดยการให้เอนไซม์จากตับอ่อน และกรดในกระเพาะอาหาร เรียนรู้การมีทัศนคติทางบวกในการรับประทานอาหาร และรับประทานอาหารอย่างมีความสุข โดยใช้แนวอาหารแบบเกอร์ซันเป็นต้นแบบ
      
       เขาเน้นมากในเรื่องสมาธิ ฝึกความผ่อนคลาย การคิดในทางบวก จินตนาการบำบัด การฝึกการหายใจแบบโยคะ เขากล่าวว่า สมาธิ ช่วยเปลี่ยนชีวิตของเขา เป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์มากที่สุดสำหรับชีวิต มันช่วยลดความเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญของมะเร็ง เขาพบว่า การฝึกสมาธิวันละ 10-20 นาที วันละ 3 เวลา ในเวลา 1 เดือนก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพอย่างมากมายในผู้ป่วยมะเร็งที่เขาดูแล อยู่
      
       ปัจจุบัน เขาเดินทางไปทั่วโลก เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการบำบัดโรคมะเร็ง และได้เขียนหนังสือให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการสู้กับมะเร็ง ชื่อ You can conquer cancer ซึ่งจำหน่ายไปทั่วโลกในภาษาต่างๆ ราว 200,000เล่ม หนังสือของเขาให้ความหวังและกำลังใจ รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติตัว ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลกจำนวนมากรอดชีวิตได้อย่างน่าอัศจรรย์
      
       ท่านผู้อ่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมวิธีการของดร.เอียน กอว์เลอร์ โดยเข้าไปใน youtube.com พิมพ์ Ian Gawler จะมีหัวข้อคำบรรยายต่างๆมากมาย มีที่น่าสนใจ เช่น Ian Gawler on Melbourne extra with john jost, Ian Gawler surviving cancer, Ian Gawler Healing cancer เป็นต้น
      
       (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 143 พฤศจิกายน 2555 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)